วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำ

 เครื่องใช้ในการจับและดักสัตว์
เครื่องมือดักจับสัตว์ด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้านนั้นมีอยู่มากมายหลากหลายชนิด แตกต่างกันไปตามลักษณะทางกายภาพของท้องถิ่น และวิถีชีวิตของชุมชน อันแสดงถึงภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์อย่างชัดเจน เครื่องมือดักสัตว์แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ  เครื่องมือสำหรับดักจับสัตว์น้ำ และเครื่องมือสำหรับดักจับสัตว์บกขนาดเล็กหรือสัตว์ปีก ทั้งนี้โดยประดิษฐ์ขึ้นให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่หรือการหลบซ่อนตัวของสัตว์แต่ละชนิด ดังนี้
๑. เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ เช่น ชนาง กรบ ลอบ ข้อง เบ็ด อวน ฉมวก สุ่ม สวก

กรบ 

กรบ เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้แทงปลาขนาดตัวใหญ่ มีลักษณะคล้ายฉมวก บางทีก็เรียกว่า กบ หรือ ตบกรบจะมีปลายเป็นเหล็กแหลมขนาดใหญ่กว่าฉมวก แต่มือถือเป็นด้ามไม้เนื้อแข็ง จะสั้นกว่าด้ามฉมวกที่ทำด้วยไม้ไผ่ เหล็กปลายแหลมที่เป็นส่วนแทงปลาอาจมี 3 แฉก และ 7 แฉกก็ได้ การประดิษฐ์ด้ามกรบใช้สำหรับจับเวลาแทงปลาใช้ไม้เนื้อแข็ง ส่วนปลายด้ามถือทำให้โค้งงอ เพื่อให้จับได้กระชับแน่น เมื่อแทงปลาติดแล้วหากปลาดิ้นก็ใช้แรงน้ำหนักจากตัวคนกดลงไปที่ตัวปลาได้โดยไม่เจ็บมือ ปลายด้ามกรบบริเวณมือจับ บางทีก็มีการแกะสลักลวดลายเป็นรูปหัวสัตว์ต่าง ๆ เช่น ลิง นก งู เป็นต้น ถัดจากมือจับซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งจะใช้ไม้ไผ่รวกลำเล็ก ๆ ข้อสั้น ๆ แข็งแรงทนทาน จำนวนลำไม้ไผ่จะเท่ากับจำนวนแฉกของกรบ เช่น ถ้ากรบมี 3 แฉก ก็ต้องใช้ไม้ไผ่ยาวขนาด 50 – 60 เซนติเมตร 3 ท่อน ใช้หวายหรือลวดถักยึดให้แยกออกจากกันเป็นแฉก ๆ ปลายไม้รวกผูกยึดกับด้ามไม้เนื้อแข็ง เหล็กสวมทับกับไม้รวกนั้น ใช้วิธีการเผาเหล็กให้แดงใส่ครั่งไว้ในรูไม้ไผ่ กดเหล็กเข้าไปในรู เมื่อครั่งละลายและเย็นลงแล้วจะยึดเหล็กสวมได้แน่น จากนั้น ใช้วงแหวนเหล็กกว้าง 3 เซนติเมตร สวมทับรัดให้แน่นหนาอีกครั้งหนึ่ง ปลายกรบที่เป็นเหล็กสำหรับไว้แทงปลาจะแหลมคมมากวิธีใช้ ผู้ที่ออกไปหาแทงปลาจะจับที่มือถือ มักใช้กรบแทงปลาในบริเวณน้ำไหลลึกไม่เกินหัวเข่า วิธีการแทงปลาอาจปักกิ่งไม้วางห่าง ๆ บริเวณน้ำไหล หากปลาว่ายผ่านมาจะทำให้กิ่งไม้ที่ปักไว้ไหว ๆ เป็นสัญญาณให้รู้ว่าปลาว่ายผ่านมาแล้วจะได้แทงปลาได้ถูก หรืออาจใช้แทงปลาที่หลบอาศัยใต้ต้นวัชพืชในฤดูร้อนกรบมักใช้การแทงปลาที่ตัวใหญ่ ๆ เช่น ปลาค้าว ปลาสวาย ปลากะโห้ ปลาเทโพ เป็นต้น
หากจำพวกปลาดุก ปลาช่อน ค่อนข้างตัวเล็กกว่า มักจะใช้ฉมวกแทง
 

ข้อง 

ข้อง เป็นเครื่องมือจักสานชนิดหนึ่ง สานด้วยผิวไม้ไผ่ ปากแคบอย่างคอหม้อดิน มีฝาปิดเปิดได้ เรียกว่า ฝาข้อง ฝาข้อง มีชนิดที่ทำด้วยกะลามะพร้าว และใช้ไม้ไผ่สานเป็นรูปกรวย ปลายกรวยแหลมปล่อยเป็นซี่ไม้ไว้เรียกว่า งาแซง ข้องใช้สำหรับใส่ปลา ปู กุ้ง หอย กบ เขียด เป็นต้น ข้องมีหลายลักษณะเช่นข้องยืน มีลักษณะคล้ายรูปทรงของโอ่งน้ำ
หรือรูปทรงกระบอก มีปลายปากข้องบานออก ขนาดสูงตั้งแต่ 10 – 15 เซนติเมตร การสานที่ก้นข้องมักจะสานเป็นก้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวข้องกลมป้อม ป่องตรงกลางค่อย ๆ สอบเข้าตรงคอข้อง แล้วบานออกที่ปากปลายปากข้องคล้ายปากแตร ที่ก้นข้องและตัวข้องจะสานด้วยลายขัดตาหลิ่ว ตรงคอข้องถึงปากข้องสานด้วยลายขัดตาทแยง ปลายปากข้องจะทำฝาปิดเปิดโดยสานผิวไม้ไผ่เป็นฝาปิด เวลาจับปลาใส่ข้อง ไม่ต้องเปิดฝาข้องก็ได้ เพราะฝาข้องนี้สามารถใส่ปลาได้สะดวก ปลาจะกระโดดออกมาไม่ได้เพราะติดที่ฝาปิดนั้น
ฝาข้องอาจทำด้วยกะลามะพร้าวก็มี ผูกเชือกไว้สำหรับสะพายติดตัวไปหาปลา
ห้องนอน หรือข้องเป็ด มีรูปทรงเป็นแนวนอน การสานข้องมีลักษณะเหมือนเป็ด ปลายปากข้องบานหงายขึ้นด้านบนสำหรับใส่ปลาไว้ในข้อง การสานก้นข้อง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ข้องนอน หรือข้องเป็ด มักไม่ค่อยสะพายติดตัวไปในขณะกำลังหาจับปลาแต่จะวางไว้ในเรือ ริมคลอง
ริมตลิ่ง เป็นต้น
ข้องลอย เป็นข้องที่ใช้ลอยในน้ำได้ในระหว่างจับปลา ข้องลอยจะใช้ข้องยืนหรือข้องนอนมัดลูกบวบ ซึ่งทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ 2 ท่อน มัดขนานตัวข้องให้ลอยน้ำได้ แล้วผูกเชือกมัดติดเอว นอกจากนี้ยังมีข้องที่ใช้ใส่ กบ เขียด โดยเฉพาะ 


ชนาง 

ชนางเป็นเครื่องมือสำหรับช้อนปลาหรือช้อนกุ้งในแม่น้ำลำคลอง ชนางที่ใช้กันอยู่ใน พื้นบ้านมี 3 ชนิด คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่

ชนางขนาดเล็ก สานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นลายขัด มีลักษณะปากกว้างก้นสอบลึก คล้ายบุ้งกี๋ มีขอบเป็นไม้ไผ่หวายหรือไม้เพื่อใช้เป็นมือจับ และทำให้มีความแข็งแรงและทนทานในการใช้งาน ชนางขนาดเล็กจะใช้ไม้ไผ่สีสุกนำมาผ่าแล้วจักเป็นตอก หากตอกยาวชนางจะกว้างใหญ่ ขนาดของชนางจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สานและผู้ใช้ ชนางขนาดเล็กเวลาใช้จะจับที่ขอบปากชนางช้อนเข้าหาตัว ในลักษณะเดินถอยหลัง หรือจับขอบส่วนกึ่งกลางของชนางทั้ง 2 ข้าง เดินช้อนไปข้างหน้าก็ได้ ชนางขนาดเล็กนิยมใช้บริเวณห้วงน้ำแคบ ๆ ใช้ช้อนกุ้งและปลาตัวเล็กชนางขนาดกลาง มีลักษณะเหมือนกับชงโลงวิดน้ำ แต่แทนที่จะสานด้วยตอกไม้ไผ่ ก็จะเหลาไม้ไผ่ให้เป็นเส้นกลมเล็กมัดด้วยเส้นหวายหรือลวดสูงท่วมหัวคน มีความกว้าง 2 –3 เมตร ถ้ามัดห่างกันมากปลาก็จะลอดออกไปได้ง่าย แต่ถ้ามัดชิดกันเวลาใช้จะหนักมาก เพราะน้ำไม่สามารถลอดช่องไม้ไผ่ไปได้สะดวกนัก ถ้าใช้ไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ผูกเป็นโครงรูปสามเหลี่ยม มัดด้วยหวายหรือลวด ก้นชนางใช้ไม้ไผ่ไขว้กันเป็นกากบาท เพื่อใส่บริเวณเอวเวลาช้อนปลา ปากชนางจะมีขนาดใหญ่ก้นจะสอบลุก ชนางประเภทนี้มักใช้กับเรือพายโดยมีคนพายท้ายเรือ ส่วนคนที่อยู่หัวเรือจะเป็นคนช้อนปลา เอาไม้ส่วนที่เป็นกากบาทไขว้กันนั้นไว้ตรงเอวเพื่อจะยกได้สะดวก ตอนพายเรือให้ปากชนางจุ่มลงไปใต้ผิวน้ำ หันปากชนางไปข้างหน้า เมื่อถึงแหล่งที่คาดว่ามีปลาอาศัยอยู่ก็ยกปากชนางขึ้นเมื่อได้ปลาก็จะจับใส่ข้องหรือทิ้งไว้ในลำเรือ ชนางขนาดกลางบางแห่งเรียกว่า คัดซ้อน ซึ่งถักเป็นตาข่ายขอบเป็นสามเหลี่ยมมีด้ามจับใช้เรือพายชนางขนาดใหญ่ ชนางประเภทนี้จะใหญ่มาก ไม่สามารถจับหรือช้อนปลาไปข้างหน้าได้ มีรูปคล้ายสามเหลี่ยมก้นลึก ทำโครงไม้ไผ่โค้งเพื่อให้จับปลาไปอาศัยอยู่ภายในชนางได้ สานด้วยผิวไม้ไผ่ยาวเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยม มีขาเป็นไม้ไผ่ 2 ลำ เวลาใช้หย่อนตัวชนางลงไปในน้ำ ให้ปลายขาไม้ไผ่โผล่พ้นน้ำ ใช้เศษไม้ใบหญ้า อาหาร เช่น รังมดแดง รังปลวกใส่ไปในตัวชนาง ทิ้งชนางไว้นาน ๆ หลายวัน เมื่อคาดว่าปลาไปอาศัยอยู่ในน้ำแล้ว จะใช้คน2 คน ช่วยกันยกชนางขึ้น ชนางประเภทนี้มักวางไว้ริมฝั่งแม่น้ำที่ลึก ๆ หรืออาจวางตักปลาในกลางแม่น้ำ เวลากู้ชนางก็พายเรือไปเพื่อยกชนางขึ้น ก้นชนางจะมีรูปิดเปิด เพื่อให้ปลาลอดช่องลงมาใส่ ปากข้อง หรือปากกระชังที่เตรียมรองรับปลาไว้


ชุด

ชุด เป็นเครื่องดักปลา ส่วนมากจะดักปลาช่อน ปลาดุก ชุดจะสานเป็นตาเหลี่ยม ๆ ขนาดเท่าตาข่าย ทำเป็นรูปทรงกระบอกลักษณะเดียวเล็ก ส่วนก้นถักปลายปิดตันไม่ให้ปลาออกได้ ปลายชุดจะมีขนาดใหญ่ให้ปลาเข้าได้สะดวก ชุดจะถักสานด้วยหวายหรือเถาวัลย์เป็นตาห่าง ๆ บางหมู่บ้านก็ใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ ๆ แล้วถักด้วยหวายตรงก้นจะตัดข้อไม้ไผ่มาปิดกั้นไม่ให้ปลาดันทะลุออกไปได้ ชุดมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ที่ปากชิดจะมีเส้นหวายหรือเชือกผูกมัดไว้ เวลาใช้ชุดดักปลาใช้เชือกหรือหวายผูกกับหลักไม้ไว้ เพื่อไม่ให้ปลาดิ้นพาชุดออกไปไกล ๆ เชือกหรือหวายที่ผูกกับปากชุดชาวบ้านเรียกว่า “สายเลี้ยง”การดักชุดอาจทำได้ 2 วิธีการวิธีที่ 1 ชุดมักนิยมดักกันในเดือน 6 เพราะต้นฤดูฝนปลาจะว่ายไปออกไข่ในน้ำตื้นตามริมหนอง คลอง บึง ฉะนั้นจึงวางชุดในบริเวณคันนาหรือบริเวณน้ำไหลริน ๆ น้ำค่อนข้างตื้น หรือในแหล่งที่ปลาเสือกตัวไปตามโคนเลน วางปากชุดไว้ในส่วนที่คิดว่าปลาจะออกมาเพื่อข้ามไปอีกแหล่งหนึ่ง มัดสายเลี้ยงให้แน่น เวลาปลาเสือกตัวดิ้นมาเข้าปากชุด ปลาก็จะพยายามเสือกตัวไปข้างหน้าอยู่เรื่อย ๆ ปลาจะไม่เสือกหรือดิ้นถอยหลังกลับวิธีที่ 2 อาจดักชุดในบริเวณน้ำลึกท่วมข้อเท้า น้ำไหลไม่แรงนัก ปลาติดชุด ในการดักน้ำลึกกว่าวิธีที่ 1 ปลามักจะตาย พอปลาเข้าไปในชุดแล้วจะกลับตัวออกทางปากชุดไม่ได้ เพราะชุดมีขนาดเท่า ๆ กับตัวปลา ปลาจะดันไปข้างหน้าเท่านั้น ปลาติดชุดในวิธีที่ 2 มักจะตายด้วยเหตุที่ไม่สามารถว่ายโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อหายใจได้การใช้ชุดแต่ละครั้งต้องล้างชุดให้สะอาด คราบคาวปลาจะได้ไม่ติดชุด เป็นการป้องกันไม่ให้ปลาได้กลิ่น ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าปลาตัวอื่น ๆ ได้กลิ่นคาวปลาที่ติดชุดแล้ว ปลาจะไม่เข้าชุดอีก



ไซ 

ไซ เป็นเครื่องมือดักสัตว์น้ำ ทำด้วยไม้ไผ่ผูกร้อยซี่ไม้ไผ่ด้วยหวายเถาวัลย์ ตอกเป็นลวด ใส่งาแซงเป็นช่องทางให้ปลา กุ้ง ปู เข้าไปภายใน ไซมีหลายลักษณะ วิธีการทำและการใช้ แตกต่างกันไป เช่นไซปากแตร ทำเป็นรูปกรวย ปากไซบานออกเป็นรูปแตร มักใช้กะลามะพร้าวเป็นฝาปิดเปิด เทปลาออกด้านนี้ ส่วนกลางไซคอดมีงาแซงสำหรับเป็นช่องทางเข้าของปลา ไซปากแตรจะใช้หวายผูกร้อยซี่ไม้ไผ่เป็นช่องถี่ ๆ แม้แต่กุ้ง และปลาตัวขนาดเล็กเล็ดลอดออกไม่ได้ ไซปากแตรมีความยาวตั้งแต่ 1 – 2 เมตร เวลาดักไม่ใส่เหยื่อล่อไว้ภายในแต่วางดักไว้ตามคันนาหรือใช้เฝือกกั้นเหมาะสำหรับดักตามช่องน้ำไหลไซท่อ สานด้วยผิวไม้ไผ่เป็นลายขีดทึบ รูปลักษณะคล้ายท่อดักปลา แต่ขนาดสั้นกว่ามาก มีความยาวประมาณเกือบ 1 เมตร ใส่งาไว้ด้วย ดักสัตว์น้ำทุกประเภทในบริเวณน้ำไหลไซลอย สานด้วยผิวไม้ไผ่เป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมต่าง ๆ มีรูปทรงกลมก้นด้านบนจะคอดเหมือนคอขวด มีฝาปิดเปิดเอาปลาออก เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ปากกว้าง มีความยาวประมาณ 1 เมตร ใช้ดักปลาในน้ำนิ่ง โดยวางไซลอยไว้ช่วงน้ำตื้น ๆ แหวกกอข้าวหรือกอหญ้าวางแช่น้ำไว้ ปลากที่กินตามน้ำตื้น ๆ หรือไปวางไข่จะเข้าทางช่องงา ปลาที่เข้าไซลอยมักเป็นปลากระดี่ ปลาสลิด และปลาหมอ เป็นต้น
ไซสองหน้า สานเหมือนกับไซลอยมีขนาดเท่า ๆ กัน ใช้ดักปลาในน้ำนิ่งและน้ำตื้นเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างตรงที่มีงาอยู่ 2 ด้าน จึงเรียกว่า ไซสองหน้าไซโป้ง เป็นรูปทรงกระบอกด้านปากไซและก้นป่องออกเล็กน้อย สานเป็นลายขัดยาวประมาณ 1 เมตร ใช้ดักสัตว์น้ำทุกชนิด และดักในบริเวณน้ำไหล
ไซปลากระดี่ สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยม มีขนาดเล็กใส่งาที่ปาก ยาวประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร ใช้ดักปลากระดี่ ปลาหมอ ฯลฯ ในบริเวณน้ำไหลริน ๆ
ไซกบ สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมเล็ก รูปทรงกระบอกขนาดเล็กกว่าไซปลากระดี่ ยาวประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร ดักน้ำไหลริน ๆ หรือน้ำนิ่งก็ได้ ใช้ดักกบ อาจใช้เหยื่อ เช่น ลูกปลา หรือลูกปูใส่ล่อไว้ กบจะเข้าไปกินเหยื่อล่อทางช่องงา และไม่สามารถออกมาได้



ตุ้ม 

ตุ้ม เป็นเครื่องมือดักปลา สานด้วยตอกไม้ไผ่ มีลักษณะคล้ายกับอีจู้ดักปลาไหล มีงาแซงอยู่ริมก้นตุ้มเช่นเดียวกัน แต่ตุ้มมีงา 2 ชั้น ไม่มีกะพล้อใส่เหยื่อล่อเหมือนอีจู้ แต่มีงายาวเรียกว่า งาโข่งตุ้มสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นลายขัด เริ่มต้นสานส่วนก้นมีตาเหลี่ยมช่องทึบกว่าอีจู้ แล้วสานต่อข้างบนเป็นลายขัดทึบ ขนาดของตุ้มสูงตั้งแต่ 30 เซนติเมตร จนเกือบ 1 เมตร ตุ้มมีหลายประเภท เช่นตุ้มบอง มีรูปทรงคล้ายอีจู้ ด้านล่างป่องค่อย ๆ เรียว ส่วนบนมักใช้กะลามะพร้าวปิดปากข้างบน ซึ่งใช้เป็นที่เทปลาออกมีขนาดย่อมเท่าเสือบอง จีงเรียกว่า ตุ้มบอง ใช้ดักปลาตามแอ่งน้ำทั่วไป และตามหุบเขาตุ้มแรม มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดใหญ่กว่าตุ้มบองมาก สานเป็นลายขัดทึบและลายไพรยักคิ้ว ส่วนล่างมีงา 2 ชั้น ชั้นนอกเรียกว่า งาไหว้ ชั้นในเรียกว่า งาโข่ง เป็นทางเข้าของปลา ปลายปากตุ้มบานออกเล็กน้อยเหมือนปากแตรสานฝาปิดเปิดเทปลาออก สานด้วยตอกไม้ไผ่เช่นเดียวกัน การที่เรียกตุ้มแรมเพราะว่าเป็นตุ้มขนาดใหญ่กว่าประเภทอื่นๆ ภายในกว้างขวางปลาว่ายได้สะดวกไม่ตายง่าย ชาวบ้านจะดักตุ้มทิ้งไว้นาน เป็นแรมคืนแรมวัน คอยเติมเหยื่อ เมื่อปลาเข้าไปมากแล้วจึงค่อยไปกู้ จึงเรียกตุ้มนี้ว่า ตุ้มแรม ปลาที่ติดตุ้มแรมมักเป็นปลาดุกและ ปลากดตุ้มบอง สานเป็นรูปทรงข้องมีขนาดเท่ากัน ดักปลาน้ำตื้น ๆ ก้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปากแคบอย่างคอหม้อดินตุ้มกบ สานรูปทรงคล้ายข้องลายขัดห่าง เป็นตาสี่เหลี่ยมใช้เฉพาะดักกบ ดักเขียด ใช้เยื่อประเภทลูกปลา หอยใส่ไว้ภายใน วางในน้ำตื้น ๆ มีงาแซงชั้นเดียว กบ เขียด เมื่อเห็นเหยื่อล่อจะเข้าไปทางช่องที่มีงาแซงดักอยู่การใช้ตุ้มบอง ตุ้มแรม และตุ้มข้อง มีวิธีการดักปลาเหมือนกัน ก่อนใช้จะเอาขี้ควายหรือดินโคลนทาตุ้มด้านนอกให้รอบ ตากตุ้มให้ขี้ควายหรือดินโคลนที่ทาจนแห้ง การทาเช่นนี้ เพราะต้องการให้กลิ่นเหยื่อล่อส่งกลิ่นมาทางงาสำหรับปลาเข้าเท่านั้น หาเหยื่อ ใส่ไว้ข้างในตุ้ม เช่น ดินรังปลวก รังมดแดง รำข้าว ใส่ล้อให้ปลาเข้าไปกินเหยื่อ ดักตุ้มในบริเวณน้ำนิ่งให้ปลายปากตุ้มโผล่พ้นน้ำ ปลาจะได้ว่าย้ำมาหายใจไม่ตาย แหวกทางปลาว่ายให้เป็นช่องเข้ามาทางงา หาใบไม้ ใบหญ้าคลุมต้น เมื่อปลาได้กลิ่นขี้ควาย กลิ่นโคลนเลนแหล่งอื่น ๆ จะว่ายเข้ามาใกล้ และเข้าช่องงาไปกินเหยื่อภายใน แล้วจึงลอดงาโข่งอีกชั้นหนึ่ง ปลาจะออกไม่ได้ เพราะงาส่วนข้างใน แข็งแรงกว่างาด้านนอก ซึ่งถักไว้ห่าง ๆ เท่านั้น ปลาลอดได้ง่าย บางครั้งอาจไม่ต้องใช้เหยื่อล่อใส่ไว้ภายในตุ้มก็ได้ ปลาเข้าตุ้มมักขึ้นอยู่กับเหยื่อล่อภายในด้วย หากใส่เหยื่อประเภทรังปลวก รังมดแดง ปลาดุกชอบเข้าไปกิน หากใช้เหยื่อประเภทหัวปลาที่เหม็นคาวเป็นเหยื่อล่อ ปลาที่เข้าไปกินมักเป็นปลากด ปลาแขยง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีตุ้มประเภทอื่น ๆ อีก เช่น ตุ้มปลาสร้อย ตุ้มปลากด และตุ้มสามทางเป็นต้น 




ลอบ 

ลอบ เป็นเครื่องมือดักจับปลาที่สานด้วยไม้ไผ่ ใช้หวาย เถาวัลย์ หรือลวดรัดโครงไม้ ลอบมีช่องว่างให้ปลาว่ายเข้าไปติดอยู่ภายใน ลอบที่ใช้อยู่ในพื้นบ้านมีอยู่ 3 ประเภท คือ ลอบนอน ลอบยืน และลอบกุ้งลอบนอน ใช้ดักปลาสำหรับน้ำไหล มักจะมีหูช้างอยู่ที่ปากลอบด้วย โดยใช้แผงเฝือกต่อจากหูช้างทั้งสองข้างกั้นขวางแม่น้ำ ลำคลอง วางลอบอยู่ในแนวนอนลอบนอนมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ก้นลอบเป็นรูปรี ๆ สามารถปิดเปิดเอาปลาออกทางก้นลอบได้ ลอบนอนมีความยาวตั้งแต่ 1 – 2 เมตร เหลาซี่ไม้ไผ่กลม ๆ ประมาณ 20 ซี่ มัดด้วยหวาย เถาวัลย์ หรือลวด ไม้ไผ่แต่ละซี่ห่างกันเกือบถึง 3 เซนติเมตร หากจะดักปลาตัวเล็กก็เรียงซี่ไม้ไผ่ให้ชิดกัน ปากลอบดักปลาทำงา 2 ชั้น เมื่อปลาว่ายเข้าไปแล้วจะว่ายออกมาอำไม่ได้เพราะติดงากั้นไว้ ลอบนอนใช้กับน้ำไหลไม่ต้องใช้เหยื่อล่อ ลอบนอนอีกประเภทหนึ่งใช้กับน้ำนิ่งในฤดูที่ปลาวางไข่ตามริมหนองน้ำ เรียกว่า ลอบเลาะ เวลากู้ลอบนอนก็จะเปิดฝาลอบส่วนก้นออก เปิดฝาเทปลาใส่ข้องได้ทันทีลอบยืน ใช้ดักปลาในน้ำลึก จะใช้แผงเฝือกกั้นแม่น้ำหรือไม่ก็ได้ การดักลอบยืนจะดักน้ำลึกกว่าลอบนอน หากใช้เฝือกกั้นก็ดักลอบยืนไว้ตามน้ำนิ่งไหล ๆ กอหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ที่อยู่ในน้ำ ปลาที่เข้าไปมักเป็นปลาดุก ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลากด เป็นต้น ลอบยืนมีลักษณะเหมือนกับทรงขวดที่วางตั้งไว้ แต่ส่วนปลายลอบยืนนั้นมัดปลายซี่ไม้ไผ่เข้ามารวมกัน ตรงด้านข้างทำงายาวผ่าเกือบตลอด ลอบยืนมีหลายรูปแบบหลายขนาด อาจจะเล็กหรือใหญ่ต่างกัน ลอบยืนบางชนิดเมื่อวางตั้งแล้วจะสูงท่วมหัวคนลอบกุ้ง ใช้ลอบนอนหรือลอบยืนก็ได้ แต่การสานซี่ไม้ไผ่จะต้องมีระยะชิดกัน ไม่ให้กุ้งลอดออกไปได้ บางทีใช้ตาข่ายถี่ ๆ หรือผ้ามุ้งคลุมรอบตัวลอบ กุ้งจะว่ายหนีออกไปไหนก็ได้ เหยื่อที่ใช้ เช่น กากน้ำปลา รำละเอียดผสมดินเหนียวปั้นเป็นก้อน เป็นต้นลันดักปลาไหล



สุ่ม 

สุ่ม เป็นเครื่องมือสำหรับครอบปลา สานด้วยซี่ไม้ไผ่เป็นตา ๆ หรือถักหวายเถาวัลย์และลวดสุ่ม นับเป็นของใช้พื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วทุกภาค หากแต่มีการเรียกชื่อแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น สุ่มโมง เป็นสุ่มมีขนาดกว้างใหญ่กว่าสุ่มชนิดอื่น โมงมาจากภาษาถิ่น คือ โม่ง มีความหมายว่า ใหญ่โต สุ่มโมงบางพื้นบ้านเรียก สุ่มซี่ หรือสุ่มก่อง ซึ่งเรียกตามลักษณะการทำของชาวบ้าน สุ่มโมงจะใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ ประมาณ 50 – 100 ซี่ หากสุ่มใหญ่ก็ใช้ซี่ไม้ไผ่มากขึ้น สุ่มชนิดนี้จะใช้หวาย เถาวัลย์ หรือลวดถัดร้อยซี่ไม้ไผ่ยึดกันโดยมีวงหวาย หรือวงไม้ไผ่ทำเป็นกรอบไม้ภายใน การถักเส้นหวายเถาวัลย์หรือลวด จะถักซี่ไม้รัดกับวงภายในให้แน่น บางทีชาวบ้านเรียกการถักร้อยสำหรับยึดให้แน่นนี้ว่า “ก่อง” จึงเรียกสุ่มก่อง และลักษณะที่ก่องเป็นซี่ ๆ นี้เอง จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุ่มซี่สุ่มสาน เป็นสุ่มขนาดแคบกว่าสุ่มโมง เหลาซี่ไม้ไผ่จำนวนมาก สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมห่าง ๆ แต่ไม่ให้ปลาลอดออกได้ บางทีก็เรียกว่า สุ่มขัด สุ่มชนิดนี้ไม่ต้องใช้หวายเถาวัลย์ หรือลวดถักยึดใด ๆสุ่มกลอง มีรูปเล็กกว่าสุ่มสานเล็กน้อย การทำสุ่มจะใช้หวายเถาวัลย์หรือลวดถักสุ่ม ส่วนบน ส่วนล่างใช้ซี่ไม้ไผ่สานขัดเป็นสี่เหลี่ยมสุ่มงวม หรืออีงวม มีลักษณะพิเศษแตกต่างกัน สุ่มภาคอื่น ๆ มีขนาดใหญ่กว่าสุ่มโมงมาก สุ่มบางอันสูงเกินกว่า 1 เมตรก็มี สุ่มงวมจะมีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ปลายตีนสุ่มกว้างออกเล็กน้อย ด้านบนสุ่มทำเป็นวงกว้างเพื่อใช้มือ2 ข้าง ล้วงจับปลาในสุ่มได้สะดวก การสานสุ่มงวมจะสานด้วยตอกผิวไม้ไผ่บาง ๆ สานลายขัดทึบโดยตลอดการสุ่มปลามักสุ่มในห้วงน้ำไม่กว้างและลึกนัก สุ่มไปเรื่อย ๆ เหมือนคำที่ว่า สุ่มสี่สุ่มห้า แล้วเอามือล้วงควานภายในสุ่ม ถ้าครอบปลาได้จะควานจับใส่ข้องที่มัดสะพายติดตัวไป สมัยก่อนนั้นการสุ่มปลาใช้คนลาก “ไม้ค้อน” ซึ่งเป็นไม้ท่อนกลมจมน้ำ ใช้เชือกมัดท่อนไม้ 2 ข้าง ใช้คน 2 คน ลากในห้วงน้ำ คนถือสุ่มหลาย ๆ คน จะเดินตามไม้ค้อน ปลาเมื่อเห็นไม้ค้อนลากมาใกล้ตัวหรือถูกตัวจะกระโดดหนี บางทีมีฟองน้ำเป็นทิว ๆ ไปข้างหน้า การกระโดดและว่ายหนีนี้จึงเป็นข้อสังเกตให้สุ่มปลาได้ถูก ในนิราศสุพรรณบุรีของสุนทรภู่ยังได้กล่าวถึง เรื่องสุ่มปลาไว้ว่าศรีศะเสียงเสียงแซ่ล้วน พวกลาวแก่หนุ่มสุ่มปลาฉาว แช่น้ำผ้าบ่นุ่งพุงขาว ขวยจิต รอดเอยเดกด่วนชวนเพื่อค้ำ ค่ามให้ใกล้ลาวสุ่มนอกจากใช้ครอบปลาแล้ว ยังเป็นอุปกรณ์บีบนวดตาลสุกทำขนมตาล ใช้ครอบเด็กเกิดใหม่ไม่ให้ผีเข้า ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวพื้นบ้านบางถิ่น และยังใช้ครอบลูกไก่ได้อีกด้วย





อีจู้ 

อีจู้ เป็นเครื่องดักปลาไหลชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีงาแซงอยู่ริมก้นใส่เหยื่อไว้ในกะพล้อ บางแห่งเรียกอีจู้ว่า กระจู้ หรือจู้อีจู้มีลักษณะกลมป่องส่วนก้น แล้วเรียวที่ส่วนบน คล้ายคนโทใส่น้ำบางชนิด หรือคล้ายรูปหม้อคอสูง ขนาดของอีจู้โดยทั่วไปวัดตามเส้นผ่าศูนย์กลาง ส่วนก้นมีความกว้างตั้งแต่ 20 – 40 เซนติเมตร เมื่อวางตั้งมีความสูงตั้งแต่50 เซนติเมตร จนถึง 1 เมตร การสานอีจู้ใช้ตอกไม้ไผ่เหลาบาง ๆ เริ่มสานที่ก้นเป็นลายขัดสี่เหลี่ยมเป็นตาห่าง ๆ แต่ต้องไม่ให้ปลาไหลลอดออกไปได้ แล้วสานในแนวตั้งขึ้นมาเป็นลายขัดทึบ สานปลายปากอีจู้เรียวแคบลงทีละน้อย ๆ ส่วนริมปลายปากจะบานออกเล็กน้อย เพื่อวางที่ปิดปากอีจู้ส่วนใหญ่ใช้กะลามะพร้าว หรือเศษฟางเศษหญ้าจุกปากให้แน่น ริมก้นอีจู้ด้านหนึ่งด้านใดจะสานเป็นช่องวงกลมไว้ เพื่อใส่งาแซงให้ปลาไหลเข้า โดยทั่วไปแล้วอีจู้แต่ละอันจะมีงาแซงอยู่ 1 ซองเท่านั้น แต่ถ้าสานอีจู้ขนาดใหญ่ก็ทำแซงริมก้นอีจู้ทุกด้าน คือมีงาแซงใส่ไว้ 4 ช่องทาง ภายในสานไส้อีจู้ด้วยไม้ไผ่เป็นลายขัดห่าง ๆ ทำเป็นกรวยใส่เหยื่อล่อปลาไหล บางทีเรียกว่า“กะพล้อ” หรือรอง สามารถดึงเข้าดึงออกได้ เหยื่อที่ใส่ให้ปลาไหลเข้าไปกิน มักใช้เนื้อหอยโข่งนา ปูตายทุบให้แหลกหรือเนื้อปลาสับการดักปลาไหลจะดักในน้ำนิ่งตามริมหนอง คลอง บึง หรือตามแปลงนา ความลึกของน้ำไม่มากนัก ต้องให้ส่วนปลายปากอีจู้โผล่พ้นน้ำเพราะปลาไหลจะได้ขึ้นมาหายใจได้ ใช้ใบหญ้าคลุมอีจู้แต่งช่องทางให้ปลาไหลเข้าไปทางงาแซงได้สะดวก ช่องงาแซงอยู่ในระดับพื้นดินใต้น้ำ พอดี ปลาไหลซึ่งชอบอาศัยอยู่ในโคลนเลน เมื่อได้กลิ่นเหยื่อจะหาทางเข้าไปกิน จนกระทั่งเข้าช่องจากแซงนั้น แต่ไม่สามารถกินเหยื่อได้เพราะใส่ไว้ในกะพล้ออีกชั้นหนึ่ง ทำให้เหยื่อไม่หมด ปลาไหลตัวอื่น ๆ จะเข้าไปอีก การกู้อีจู้อาจกู้วันละครั้ง หรือดักไว้หลาย ๆ วันก่อนจึงมากู้ก็ได้
ของดีอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ เป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่พัฒนาต่อเนื่องกันมายาวนานในอดีต 
ซึ่งนอกจากจะเก็บรักษาที่ถูกต้องแล้ว ยังต้องเผยแพร่ภูมิปัญญาเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดและต่อยอดต่อไปด้วย ภูมิปัญญาจึงจะไม่สูญสลายไป มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้
ควบคู่ไปด้วยยาวชนในท้องถิ่นก็จะได้ศึกษาเรียนรู้และรู้จักรักหวงแหนมรดกนี้ไว้สืบไป